ตัวแรกเริ่มจากอะไรที่ใกล้ตัวเรามากๆ นั่นคือ โทรศัพท์มือถือ แล้ว Android มันคืออะไรล่ะ? มันก็คือระบบปฏิบัติการบนมือถือ แต่หลายคนก็ยังงงอยู่ดีว่าไอ้ระบบปฏิบัติการในมือถือนี่มันเป็นยังไง ยกตัวอย่างให้ง่ายที่สุดก็อย่างเช่น Symbian มากมายหลายซีรีย์ส Windows Mobile หรือ Linux หลายคนคงอ๋อตั้งแต่ตัวอย่างแรกแล้วล่ะสิ
Andriod เป็นระบบปฏิบัติการสำหรับมือถือตัวใหม่ที่พัฒนาโดย Google ซึ่งเริ่มแรกนั้นความต้องการของ Google ก็คือการเจาะกลุ่มตลาดโทรศัพท์มือถือ เพื่อที่จะเสริมบริการ อื่นๆของ Google (Gmail, Docs, Maps, etc.) ลงไปได้ง่าย ไม่ต้องไปทำโปรแกรมให้ยุ่งยากในระบบปฏิบัติการอื่นๆ ดังนั้น พื้นฐานของ Android จึงใช้ Java ในการพัฒนา ซึ่งเป็นภาษาโปรแกรมที่ฮิตติดอันดับต้นๆของโลก
หลังจากการเปิดตัวอย่างสวยงามของ T-Mobile G1 ที่เป็นโทรศัพท์มือถือเครื่องแรก ที่ใช้ระบบปฏิบัติการ Android ได้ไม่นาน นักพัฒนาจากทั่วโลกก็ส่งโปรแกรมที่ตนเองพัฒนาขึ้นมาลงใน Android market (คล้ายๆ App Store ของ iPhone) และกฎข้อบังคับก็ไม่เข้มงวดเท่า App Store อีกด้วย
ในปีนี้ก็มีบริษัทผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือหลายบริษัทที่เป็นพันธมิตรกับ Google ในนามของ Open Handset Alliance ก็ได้ออกมาประกาศว่าจะผลิตโทรศัพท์มือถือที่ใช้ Android อย่างแน่นอน สิ่งนี้เอง ทำให้อนาคตของ Android ช่างดูสดใสเสียเหลือเกิน
นอกจากนี้ เมื่อต้นปียังมีข่างออกมาอีกว่า แฮกเกอร์ได้ทำการแฮกระบบปฏิบัติการ Android ลงใน Netbook ได้เป็นผลสำเร็จ โดยใช้เวลาในการดัดแปลงโค้ดเพียงแค่ 4 ชม.เท่านั้น สาเหตุมาจากตัว Android เองมีส่วนที่สนับสนุนการเชื่อมต่อกับฮาร์ดแวร์อื่นๆอยู่แล้ว ทำให้ง่ายต่อการดัดแปลง เหตุนี้เองทำให้เชื่อได้ว่าทาง Google มีแผนที่จะนำ Android ข้ามไปสู่สิ่งที่ใหญ่กว่ามือถือเป็นแน่!
2. Netbook Era
ในตอนนี้อุปกรณ์พกพาอีกอย่างที่กำลังได้รับความนิยมอย่างมากก็คือ Netbook (เน็ทบุ๊ก) หรือเป็น Notebook ขนาดเล็กนั่นเอง ด้วยขนาดหน้าจอเพียง 9”-10” และน้ำหนัก 1 กก แถมราคายังถูกกว่า Notebook ตัวจริงแบบครึ่งต่อครึ่ง ทำให้ Netbook กลายเป็นกระแสมาแรงของปีนี้ไปแล้ว
พอเวลาล่วงเข้าปี 2008 Intel เจ้าพ่อแห่งวงการ Computer Chipset ก็ได้ออก Mobile CPU ตัวใหม่ออกมา แล้วก็เป็นไปตามคาดคือ ASUS ได้นำ Atom มาใส่ลงไปใน EeePC แล้วก็ขายดีเป็นเทน้ำเทท่าอีกรอบ จนบริษัทอื่นเห็นท่าว่าตลาดนี้จะรุ่ง จึงผลิต Netbook ของตัวเองออกมาบ้าง จนในปี 2008 เพียงปีเดียวก็มียอดจำหน่ายรวมกันมากกว่า 25 ล้านเครื่องเข้าไปแล้ว
Netbook ของแต่ละยี่ห้อคลานตามกันออกมา จนถึงตอนนี้ เกือบ 10 ยี่ห้อเข้าไปแล้ว ส่วนคนที่ยิ้มแหยๆมากที่สุดก็คือ Intel ผู้ผลิตชิปเซต Atom ที่ตอนนี้ผลิตไปมากกว่า 40 ล้านชิ้น แต่ถึงกระนั้น Intel เองก็ไม่ค่อยพอใจเท่าไหร่นัก เพราะ Atom นั้นถูกออกแบบมาสำหรับโทรศัพท์มือถือ ไม่ใช่ทำมาผลิต Netbook อย่างที่เห็นๆกันอยู่ เซ็งเรื่องนี้ไม่เท่าไหร่ แต่ที่ Intel เซ็งที่สุดเห็นจะเป็นกำไร เพราะเนื่องจากราคาของชิปเซตที่ถูก ทำให้กำไรลดน้อยลงไปด้วย
และในตอนนี้ ทาง Intel ก็ได้วางแผนที่จะออกชิป Atom แบบ Dual-core ภายในปีหน้า (2010) ซึ่งก็ค่อนข้างแน่ชัดว่าเส้นทางของ Netbook ยังคงไปต่อได้อีกยาวแน่นอน
3. Windows 7 "Finished Vista"
หลังจากที่พี่บิ๊กในวงการไอทีอย่าง Microsoft ออกระบบปฏิบัติการ Windows Vista ในปี 2006 ก็แทบได้รับเสียงตอบกลับมาจากผู้ใช้ทันทีว่า ช้ามาก ถึงระบบต่างๆภายในจะดีขึ้นมากกว่า XP ก็ตาม ทำให้ล่าสุด (ธันวาคม2008) Windows Vista จึงมีส่วนแบ่งตลาดเพียง 15% ในขณะที่ Windows XP ยังคงจำนวนผู้ใช้ไว้ได้ที่ 70% และ Mac OS X ก็ได้โอกาสตีตื้นมาที่ 6%
ความล้มเหลวในครั้งนั้น ทำให้ Microsoft รู้สึกตื่นตัวและจำต้องออกระบบปฏิบัติการตัวใหม่ที่ดีกว่า Vista ให้เร็วขึ้นจากแผนเดิมในปี 2011 จึงต้องเลื่อนขึ้นมาเป็นปี 2009 แทน ในชื่อว่า Windows 7
Windows 7 นั้นนับได้ว่าเป็น Vista ฉบับสมบูรณ์ก็ไม่ผิดนักเนื่องจากความแตกต่างด้านรูปร่างหน้าตากับ Vista ยังไม่มากนัก ที่พอจะสังเกตได้ก็เพียง taskbar ที่ดูแปลกตาไป แต่สิ่งที่ทำให้แตกต่างกันอย่างมาก คือประสิทธิภาพ ซึ่งหลังจากที่ Microsoft ได้ออกตัว Beta ออกมาให้โหลดกันไปทดลอง ก็มีบทวิเคราะห์ วิจารณ์ออกมามากมาย และเสียงส่วนใหญ่ก็จะเป็นการชมถึงประสิทธิภาพในการใช้งาน ที่ดีกว่า และเร็วกว่า Windows XP ซะอีก ในครั้งนี้ Microsoft จึงตั้งความหวังอย่างมากที่จะดึงผู้ใช้ Windows XP ให้เปลี่ยนมาใช้ Windows 7 แทน แน่นอนว่ารวมถึงผู้ที่เปลี่ยนใจไปใช้ Mac แล้วด้วย
กำหนดเปิดตัว Windows 7 ภายในสิ้นปีนี้ ทำให้ความฝันที่จะปลุกความยิ่งใหญ่ของ Microsoft กลับคืนมาอีกครั้ง หลังจากแผ่วไปในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา น่าจะเป็นไปได้ ถ้าไม่เกิดโรคเลื่อนขึ้นในการเปิดตัวแล้วล่ะก็ รับรองได้เลยว่าความหวังของ Microsoft คราวนี้เป็นจริงแน่นอน
4. SSD Rocks!!
สำหรับ SSD หรือชื่อเต็มๆก็คือ Solid State Drive ซึ่งเป็นเทคโนโลยีการเก็บข้อมูลสำรอง (ศัพท์ทางคอมเรียก Secondary Storage) แบบใหม่ที่จะเข้ามาแทนที่ Hard Drive แบบจานหมุนในไม่ช้านี้
Solid State Drive นั้นเพิ่งเริ่มจะมาพัฒนากันจริงๆจังๆเมื่อ 1-2 ปีที่แล้วนี้เอง จุดเริ่มต้นก็คือความสำเร็จของ Netbook ที่มียอดขายถล่มทลาย แล้วไส้ในของมันก็ใช้ SSD เป็นหน่วยความจำสำรองแทน HDD นั่นเอง ถึงแม้ในตอนนั้นความจุจะเพียง 8 GB แต่ก็ทำให้ SSD เริ่มเป้นที่รู้จักในวงกว้าง เพราะจุดเด่นของมันก็คือ กินไฟน้อย น้ำหนักเบา ไม่มีส่วนเคลื่อนไหวที่เราต้องคอยระวังไม่ให้กระแทก แถมมี Access time ในระดับเดียวกับ RAM เรียกได้ว่าคลิ๊กปุ๊บ ก็มาปั๊บ ทำให้ SSD เป็นที่นิยมใช้ใน Netbook หรือ Notebook รุ่นที่ประหยัดพลังงานมากกว่า HDD แบบเดิมๆ
แต่ถึงจะมีข้อดีที่โดดเด่น แต่ก็มีข้อเสียไม่ใช่น้อยเหมือนกัน อย่างแรกเลยคือเรื่องราคาที่จะแพงกว่า HDD ถึง 5 เท่า (โดยประมาณ) ข้อเสียอันดับต่อมาก็คือเรื่องความจุ ถึงตอนนี้ ความจุมากที่สุดของ SSD ยังได้เพียงแค่ 256 GB (มีขนาด 1 TB แล้วแต่ยังไม่ออกจำหน่าย และราคาก็คงแพงมหาโหด) และข้อเสียอย่างสุดท้ายก็คือ ขีดจำกัดในการอ่าน-เขียนข้อมูลจะอยู่ที่ราวๆ 1-2 ล้านครั้งเท่านั้น หลังจากนั้นก็จะเริ่มเสื่อม (ขึ้นอยู่กับคุณภาพของชิป) ข้อเสีย 2 อย่างแรกนั้นแก้ได้ไม่ยาก เพียงแค่ SSD เป็นที่นิยมมากขึ้น เทคโนโลยีการผลิตก็จะถูกลง และขนาดก็จะใหญ่มากขึ้น แต่เรื่องขีดจำกัดในการอ่าน-เขียนข้อมูลที่ยังต้องรอเทคโนโลยีใหม่กันต่อไป
อนาคตของ Solid State Drive จะเป็นอย่างไรต่อไปนั้นยังไม่ค่อยชัดเจนเท่าไหร่นัก แต่ตอนนี้ก็กำลังเติบโตขึ้นอย่างช้าๆ Notebook หลายรุ่นก็เริ่มมี option SSD ให้เลือกแทน Hard Drive แล้ว เส้นทางสู่แสงสว่างของ SSD จึงเริ่มโผล่ให้เห็นรำไรอยู่ข้างหน้า
เรื่องของเทคโนโลยีใหม่ๆยังไม่หมดเพียงเท่านี้นะครับ สำหรับครึ่งหลัง คงจะมาอัพเร็วๆนี้ครับ